Read more: http://nanfufu.blogspot.com/2012/05/blog-post_3639.html#ixzz46BxujGXc

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

"คติธรรม"


คติธรรมจากท่าน ว.วชิรเมธี

1. คนธรรมดาทำบุญก็อยากได้บุญ คนมีปัญญาทำบุญหวังจะเกิดในภพใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ชาวพุทธแท้ทำบุญเพื่อการปล่อยวางกิเลสอย่างสิ้นเชิง

2. สิ่งที่ตาเห็นอย่าเพิ่งสรุปว่ามี สิ่งที่คนยอมรับว่าดีอย่าเพิ่งบอกว่าเห็นด้วย

3. ผู้ทรงธรรมนั่นแหละคือผู้ทรงเกียรติ ผู้มีความดีนั่นแหละคือผู้มีทรัพย์ ผู้รู้จักพอนั่นแหละคือมหาเศรษฐี

4. นักปราชญ์ตะวันตกกล่าวว่า อำนาจทำให้คนเสีย ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งเสียคนแบบเบ็ดเสร็จ

5. ดาบที่ดีต้องมีฝัก ความสามารถที่ดีต้องมีจริยธรรม

6. พ่อแม่ที่ดีต้องมีพรหมวิหาร 4 หน้า หน้า 1 เมตตา หน้า 2 คือ กรุณา หน้า 3 คือ มุทิตา หน้า 4 คือ อุเบกขา

7. ยามปกติเลี้ยงลูกด้วยเมตตา ยามมีปัญหาคอยช่วยเหลือด้วยกรุณา ยามลูกทำดีคอยส่งเสริมด้วยมุทิตา ยามลูกทำผิดปล่อยให้รับกรรมด้วยตัวเอง คือ อุเบกขา

8. รอยเท้าแรกที่เหยียบบนดวงจันทร์ไม่ใช่รอยเท้าของมนุษย์ แต่เป็นรอยเท้าแห่งจินตนาการ

9. การแก้กรรมคือการแก้ที่ความหลงผิด การแก้กรรมคือการเลิกทำความชั่ว ดังนั้นการแก้กรรมจึงไม่ใช่สำเร็จที่การสะเดาะเคราะห์หรือทำพิธีจากเกจิ

10. คนที่รู้เรื่องกรรมดีที่สุดคือตัวเราเอง คนที่แก้กรรมได้ดีที่สุดคือตัวของเรา การแก้กรรมต้องทำด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ด้วยพิธีกรรมแปลกๆ

11. คนขุดบ่อน้ำก็ลงต่ำอยู่ในดิน คนก่อกำแพงก็ขึ้นสูงตามกำแพงที่ก่อ ฉันนี้ฉันใดคนทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น จะสูงจะต่ำขึ้นอยู่กับการกระทำของตน

12. คนฉลาดชอบแกล้งโง่ คนโง่ชอบเสแสร้งว่าฉลาด ส่วนนักปราชญ์เรียนรู้ที่จะฉลาดและเรียนรู้ที่จะโง่

13. กฎแห่งกรรมไม่ต้องง้อวีซ่า กฎแห่งกรรมไม่ยกเว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม กฎแห่งกรรมไม่มีวันหยุด กฎแห่งกรรมเที่ยงธรรมตลอดกาล

24 คำสอนตามหลักธรรมจาก ท่าน ว.วชิรเมธี

14. บิล เกตต์ เรียนไม่จบแต่พบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เพราะเป็นคนใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ปัญญาไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ในจิตใจที่ใฝ่รู้

15. อย่ายึดติดกับความหลัง อย่าฟังเสียงปาปมิตร (มิตรชั่ว) อย่ามัวคิดริษยา อย่าเสียเวลากับคนเลวทราม

16. คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องสิทธิที่จะไม่ทุกข์

17. ความไม่รู้เป็นยอดแห่งมลทิน ปัญญาเป็นยอดแห่งสิริมงคลความถ่อมตนเป็นยอดแห่งเสน่ห์

18. รถทุกคันล้วนมีเบรก รถทุกคันล้วนมีท่อไอเสีย คนทุกคนต้องมีเบรกคือสติ ต้องมีท่อไอเสียคือการปล่อยวาง

19. ความทุกข์ไม่เคยยึดติดเรา มีแต่เราต่างหากที่ยึดติดความทุกข์ ความสุขไม่เคยไปจากใจเรา มีแต่เราต่างหากที่ไม่เคยถนอมมันไว้ในใจของเรา

20. ยศ ทรัพย์ อำนาจเป็นเพียงมรรควิธีที่ทำให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเป้าหมายในการเกิดเป็นมนุษย์

21. ทำผิดแล้วรู้สึกผิดต่อไปจะเป็นคนดี ทำผิดแล้วรู้สึกว่าเป็นความดีกาลกิณีจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

22. ที่สุดของความรักคือรักโดยไม่ครอบครอง ที่สุดของการให้คือให้โดยไม่หวังผล ที่สุดของทานคืออภัยทาน ที่สุดของคนคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

23. ความรักไม่เคยทำให้ใครทุกข์ การไม่รู้จักธรรมชาติของความรักต่างหากที่ทำให้เกิดทุกข์ ธรรมชาติของความรักคือเกิดขึ้นในเบื้องต้น ดำรงอยู่ในท่ามกลาง และแตกดับไปในที่สุด

24. โลกนี้มีผี 6 ตัวที่น่ากลัวกว่าผีไหนๆ 1 ผีสุรา 2ผีเที่ยวกลางคืน 3. ผีมหรสพ (ติดใจในความบันเทิงจนเกินพอดี) 4 ผีการพนัน 5 ผีคบคนชั่วเป็นมิตร (คนชั่วอยู่ไหนชอบเถลไถลไปสนิทสนม) 6 ผีขี้เกียจ ผี 6 ตัวนี้ต้องปราบด้วยปฏิบัติธรรม

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

"ธรรมะกับการทำงาน"


1. โดนเพื่อนร่วมงานแย่งซีนทำอย่างไร?

เขาแย่งจากเราได้เพียงแค่ซีนและภาพลักษณ์เท่านั้น
แต่เขาไม่สามารถแย่งความรู้และความสามารถไปจากเราได้

2.  งานเยอะมากทำอย่างไรดี?

(1) รู้ว่างานเยอะต้องรีบทำ
(2) อย่าดองงานข้ามปีข้ามชาติ
(3) เรียงลำดับความสำคัญของงาน สำคัญก่อนให้รีบทำ สำคัญน้อยค่อยทยอยทำ

3. ทำงานดี มีแต่คนริษยา จะรับมืออย่างไร? โบราณว่า ไม้ใหญ่ย่อมเจอขวานคม

คนเด่นต้องมีคนด่า คนมีปัญญาจึงมีคนลองดี คนทำงานดีจึงมีคนริษยาปรากฏการณ์เช่นว่านี้เป็นของธรรมดา ทำงานดีจนมีคนริษยา ยังดีกว่าทำงานไม่ดี จึงเป็นได้อย่างดีแค่คนที่คอยริษยา

4. ทำงานแทบตาย เงินไม่พอใช้ ทำอย่างไรดี?

(1) หางานใหม่
(2) ลดความต้องการให้น้อยลง อยู่กับความจริงให้มาก
(3) บริโภคปัจจัยสี่โดยมุ่งประโยชน์ อย่ามุ่งประดับ
(4) ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รับมากกว่าจ่ายจึงนับว่ายอดจ่ายมากกว่ารับนับว่าแย่

5. ถูกนายด่า อารมณ์เสีย?

คนที่ด่าคนอื่นสะท้อนว่าระบบข้างใจกำลังพัง
คนอารมณ์เสียเพราะถูกด่า
แสดงว่าระบบของตัวเองก็พังตามไปด้วย

6. ลูกค้าจู้จี้ทำอย่างไรดี?

มีลูกค้าจู้จี้ยังดีกว่าวันทั้งวันไม่มีใครแวะเวียน
ผ่านมาเยี่ยมเยียนถึงในร้าน
ลูกค้าจู้จี้ได้ แต่คุณต้องทำให้เขาประทับใจเอาไว้เสมอ

7. ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด

ใครเชิด ใครชู ช่างเขา
ใครด่า ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ

8. “ผู้บริหาร” ที่ประสบความสำเร็จ มักจะถือคติ… ทำ 1 แต่ได้ 100 ทำน้อยแต่ได้มาก

9. เมื่อเครียดมากๆ ด้วยเรื่องใดก็ตาม ถ้าเรามองตนเองเทียบกับคนที่สูงกว่า เราจะรู้สึกแย่มากที่สู้เขาไม่ได้ แต่ถ้ามองเทียบกับคนที่ต่ำกว่า เราจะรู้สึกลำพองอหังการ ขณะเดียวกันถ้าเรามองตัวเองเทียบกับคนทั่วไป ก็จะพบว่ายังมีคนอีกมากมายที่เขาก็พบกับปัญหา มีความทุกข์มากมายในชีวิตเหมือนกันกับเรา และนั่นจะทำให้เราค้นพบความจริงว่า เรายังคงมีเพื่อนทุกข์อีกมากมายในโลกใบนี้

10. ทะเลาะกับแฟนจนไม่มีสมาธิทำงาน?

งานส่วนงาน แฟนส่วนแฟน
รู้จักแบ่งเวลาให้งาน รู้จักแบ่งเวลาให้แฟน
อย่าเสียงานเพราะแฟน อย่าเสียแฟนเพราะงาน




"ทุกข์"


เรื่องราวของ "ความทุกข์" และ "ความสุข"


นักปรัชญาตะวันตกหลายคนเมื่อหันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างผิวเผิน ก็มักจะด่วนสรุปว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้มองโลกในแง่ร้าย อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ นับเป็นหนึ่งในปรัชญาตะวันตกที่มีความเชื่อเช่นนี้ เขาจึงสรุปว่า "ชีวิตไม่มีอะไรมากหรอก นอกจากเป็นเพียงลุกตุ้มที่แกว่งไปมาระหว่างความทุกข์กับความเบื่อหน่าย" โชเพนเฮาเออร์ไม่ได้เชื่ออย่างนี้คนเดียว เขาทำให้คนอีกมากมายในโลกนี้เชื่อตามเขาไปด้วย พระพุทธศาสนาเลยพานถูกเหมารวมให้เป็นศาสนาที่สอนให้มองโลกในแง่ร้ายไปโดยปริยาย

แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้มองโลกในแง่ดี (Optimism) หรือ มองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) แต่พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง (Realism) นั่นคือ มองโลกอย่างที่โลกมันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น

"ความทุกข์" เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่มีอยู่คู่กับโลก แต่ "ความสุข" ก็เป็นความจริงอีกอย่างหนึ่งที่เคียงคู่มากับความทุกข์ด้วยเช่นกัน และโลกก็ไม่ได้มีเพียงความสุขความทุกข์สองอย่างนี้เท่านั้น ทว่าโลกนี้ยังมีภาวะที่เรียกว่า "เหนือสุขเหนือทุกข์" อยู่อีกด้วย

คนที่มองโลกตามความเป็นจริง ยามมีความทุกข์จึงไม่ท้อ และยามมีความสุขจึงไม่หลงติดในความสุขจนเกินพอดี เพราะเขาย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ยังมีภาวะที่ประเสริฐกว่าความสุขอยู่อีก นั่นคือ การอยู่เหนือทั้งสุขทั้งทุกข์ตลอดกาล

อย่างไรก็ตาม แม้โลกจะมีสุขและทุกข์ปกกันไป แต่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาแห่งความสุขของคนเรานั้นมักจะแสนสั้นเสียเหลือเกิน วันหนึ่ง ๆ ชีวิตช่างคลุกคลีตีโมงอยู่กับเรื่องราวที่ทำให้ทุกข์ตั้งร้อยแปดพันเก้าไม่รู้จบสิ้น ทำอย่างไรดีนะเราจึงจะออกมาจากความทุกข์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือถึงไม่ออกมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ขอแต่เพียงอยู่กับความทุกข์อย่างเป็นมิตรก็พอแล้ว

เรามาลองเรียนรู้วิธีอยู่กับความทุกข์ให้เป็นสุขกันดีกว่า

๑. อยู่กับความจริง ทิ้งความกังวล
ความทุกข์หลายอย่างในชีวิตของเรา ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วสัดส่วนของความทุกข์จริง ๆ จะมีไม่มาก แต่บางครั้งที่รู้สึกทุกข์มาก ๆ เป็นเพราะว่าเราสร้างภาพความทุกข์นั้นให้ใหญ่โตเกินจริง เช่น ใครบางคนพอรู้ว่าจะไปสอบสัมภาษณ์วันพรุ่งนี้ คืนนั้นทั้งคืนนอนไม่หลับ คิดโน่นคิดนี่วุ่นวายไปหมด กลัวว่าจะสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน กลัวว่าจะตอบคำถามไม่ได้ กลัวว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่จะดูไม่ดี กลัวว่าหน้าจะไม่ใส กลัวว่าความรู้ความสามารถของตัวเองจะไม่สอดคล้องกับที่บริษัทนั้น ๆ ต้องการ กลัวว่ารถจะติดแล้วไปสาย หรือสุดท้ายกลัวว่าถ้าไปสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน คนที่บ้าน เพื่อน พ่อแม่ จะปรามาสว่า เอาดีไม่ได้

เรากลัวไปสารพัดอย่าง ทั้ง ๆ ที่ในสถานการณ์จริง สิ่งที่เรากลัวมาตั้งสิบอย่างนั้นอาจเกิดขึ้นจริงเพียงอย่างเดียงเท่านั้น แต่กว่าจะรู้เช่นนี้ได้ เราก็ปล่อยให้ความทุกข์ที่เรากังวลนั้นทำร้ายเรามาแล้วทั้งคืน

นี่แหละคือความทุกข์ที่เกิดจากการสร้างภาพของเราเอง
ความทุกข์อย่างนี้เรียกว่า ทุกข์เพราะอุปทาน
หรือทุกข์เพราะฉันสร้างมันขึ้นมาเองจากความกังวล
ทุกข์อย่างนี้ บางทีร้ายกว่าตัวความทุกข์จริง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หากเรากำลังทุกข์ด้วยเรื่องใด ลองถามตัวเองดูซิว่า สิ่งที่กังวลอยู่นั้นมันน่ากลัวจริง ๆ หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมากันแน่ ลองแยกทุกข์แท้ ๆ ออกจากความกังวลให้ได้ แล้วจะเห็นว่า ทุกข์แท้ ๆ ที่ควรทุกข์มีอยู่นิดเดียวเอง

๒. ฝึก "ช่างมัน" ให้เคยชิน
วิธีคลายทุกข์ประการที่สองนี้ก็ลองสืบเนื่องมาจากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทุกวันนี้ สิ่งที่คนเราแคร์มากที่สุด นอกจากเรื่องราวของตัวเองแล้ว ก็คือ "สังคม" หรือ "สายตาของคนอื่น"

"สายตาของคนอื่น" นั้นมีอิทธิพลต่อความทุกข์ความสุขในชีวิตของคนเรามาก เราจะเป็นอย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างไร ความจริงก็น่าจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเราเองล้วนๆ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เรามักไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของตัวเอง เรามักคิดเสมอว่า เมื่อเราเป็นอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เดินอย่างนี้ ใช้ชีวิตอย่างนี้ คบเพื่อนคนนี้ ใช้โทรศัพท์รุ่นหรือยี่ห้อนี้ ชอบนักดนตรีคนนี้ ใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้ หรือแม้กระทั่งอ่านนิตยสารชื่อนี้ แล้วคนอื่นจะมองเราอย่างไร หรือตัวตนของฉันในสายตาคนอื่นจะเป็นอย่างไร

"สายตาของคนอื่น" คือสไตลิสท์ตัวจริงที่คอยจับเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง คนบางคนทั้งชีวิตแบบไม่มีช่องว่างให้ความสุขได้เล็ดลอดเข้ามาในผืนแผ่นดินใจเลย เพราะมัวแต่ใช้ชีวิตตามที่สังคมคาดหวัง เกรงว่าถ้าไม่แสดงตนอย่างที่คนทั่วไปเขาคาดหวัง "อัตลักษณ์" ของตัวเองจะหายไป หรือจะถูกลดความสำคัญลง

นี่ละคือความทุกข์ที่เกิดจากการบริโภคอัตลักษณ์ของคนร่วมสมัยทุกวันนี้

การจะคลายทุกข์อย่างนี้ได้มีหลายวิธี แต่ในที่นี้ขอแนะนำว่า ควรหัดลดการให้ความสำคัญกับสายตาคนอื่นเสียบ้าง พูดให้สั้น ก็คือ ควรรู้จัก "ช่างมัน ฉันไม่แคร์" เป็นบางเวลา บางสถานการณ์ เรื่องบางเรื่องลองหัดเป็นตัวของตัวเองดูบ้างก็ได้ พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเขียนกวีนิพนธ์เรื่อง "ช่างมัน" เอาไว้ไพเราะมาก ขอคัดมาให้อ่านกันเป็นข้อคิดสะกิดใจ เผื่อว่างเมื่อไรจะได้อ่านแล้วฝึก "ช่างมัน" เสียให้ชินความทุกข์จากการที่ต้องแคร์สายตาคนอื่นจะได้บรรเทาเบาบางลง

* แค่มองโลกตามความเป็นจริง ... ไม่เอาใจไปจับสิ่งเหล่านั้น ความทุกข์ก็จะคลายลง ความสุขก็จะไม่ตัวตน ... ทุก ๆ วันนี้ มองรอบ ๆ ตัวเห็นมีแต่คนทุกข์ ยากดีมีจน ตำแหน่งสูงใหญ่ หรือต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็นั่งถอนหายใจกันทั้งนั้น

* เขาไม่รักเรา แต่เราจะทำเพื่อเขา ... เราก็ทุกข์

* เขาไม่ยอมรับในความเก่งกาจของเรา เอาแต่คอยรังแกเรา ... เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ (ไม่รู้ว่าวันนี้จะแกล้งอะไรดี)

* เขาได้เงินมากกว่าเรา เพระเขาทำงานหนักกว่าเรา แต่เราอยากได้เงินมากเหมือนเขา แต่เราไม่เคยทำงานหนักเท่าเขา หรือมากกว่า ... เราก็ทุกข์

* เมื่อเราไม่มั่นใจตัวเอง สอนหนังสือมี ๑๐ ปี เวลาไปร่วมงานกับใคร ก็ได้แต่ตอบว่า "ค่ะ" แล้วก้มหน้าทำบ้าง อู้บ้าง พัฒนาการของตัวเองก็ไม่เคย แต่พอมีค่าจ้างนิดหน่อย ก็รีบตะครุบ ทำตัวไม่สมกับเป็นครูบาอาจารย์ เวลาคบกับใคร ก็หวาดระแวงกลัวคนอื่นจะมาเอาเปรียบตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเอง เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอดเวลา ... แบบนี้หน้าทุกข์ ทุกข์เพราะหัวใจไม่บริสุทธิ์ของตัวเอง

* ยกตัวอย่างเท่าที่มอง เท่าที่เห็น มิได้มีเจตนาอะไร กับใคร .. จึงไม่ทุกข์ ปล่อยวาง ผ่านมาแล้วผ่านไป

* กรรมเป็นของที่ไม่มีใครมาสร้างให้เรา แต่เราเป็นสร้างกรรมเอง ขึ้นอยู่กับว่า ดี หรือ ชั่ว

* ท่าน ว.วชิรเมธี สอนให้เราอยู่กับ "ทุกข์" หรือ "สุข" ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร และทางสายกลางซึ่งกันและกัน


"อยู่กับคน..ต้องอดทนตลอดไป"


อยู่กับคน..ต้องอดทนตลอดไป
ธรรมะจาก หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ความอดทนเป็นสมบัติของนักต่อสู้
ความรู้เป็นสมบัติของนักปราชญ์
ความสามารถเป็นของนักประกอบกิจ
ความสามารถทุกชนิดเป็นสมบัติของผู้ดี

ความดีเป็นศัตรูของชีวิต ความดีต้องมีอุปสรรค
เขาร้ายมาอย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมา เราเอาความดีไปแก้ไข

คนตระหนี่ก็ให้ของที่ต้องใจ
คนพูดเหลวไหล เอาความจริงใจไปสนทนา
อย่าเอาเหลวไหลไปสนทนากับมัน เสียเครดิตหมด
อย่าไปเห็นแก่คนแบบนั้นแบบนี้เลย จะเสียหาย

คนเรานี่สุขไม่เหมือนกัน ทุกข์ไม่เหมือนกัน
แก้ไขเหมือนกันทุก ๆ คนไม่ได้
เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
อย่าไปขัดคอเขา ต้องฝืนใจต้องอดทน

เราอยู่กับคนมากต้องอดทนมาก อยู่กับคนต้องอดทนตลอดไป
ถ้าเราอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องอดทน เพราะไม่มีใครขัดคอ
ใครจะพูดอย่างไรก็ช่าง วันไหนมีคนด่าคนว่าอย่างโน้นอย่างนี้
ล้วนแต่ได้กำไร คนเรานี่มีปัญหามาก

คน แปลว่า ปัญหา คนสร้างแต่ปัญหาให้เรา
เราเป็นผู้จัดการผู้บริหารต้องอดทนมาก
เมื่ออยู่กับคนมากก็ต้องอดทนมากแน่นอน

เกิดเป็นมนุษย์ ย่อมมีความแตกต่างกัน
ไม้ไผ่ต่างปล้อง พี่น้องต่างใจ บ้านเดียวกันไม่เหมือนกัน
แต่เราควรสร้างความดีร่วมกัน

เป็นเรื่องจริงที่เราจะต้องอดทน คนเราแตกต่างกันจะคาดหวังให้เค้ามาเหมือนเราหรือให้เค้าเป็นตามที่เราคิดก็คงเป็นไปไม่ได้ การใช้ชีวิตก็เหมือนกันจะต้องอดทน ยิ่งความอดทนเรามีมากเท่าไหร่นั่นแหละเเสดงว่าเราเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น..

"การจัดการความริษยา"


ความอิจฉานั้นบางครั้งมีพลัง เป็นพลังผลักดันให้ชีวิตไปในทิศทางที่เราต้องการขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ในทิศทางใด จะทำให้ชิวิตไปสู่เป้าหมายนั้นก็ได้ จะทำให้คนอื่นแย่ลงก็ได้ เพื่อให้รู้สึกขาดๆเหมือนกับเรา เข้าทำนอง ถ้าเราแย่คนอื่นก็ต้องแย่ด้วย อยู่ที่ว่าเราจะแปลงความอิจฉาให้เป็นทุนในการทำอะไร

โดยทั่วไปเราจะรู้สึกอิจฉาคนอื่นเมื่อ...

เห็นข้อดีของคนอื่น และนำมาเทียบกับข้อด้อยของตนเอง เห็นคนอื่นรวยกว่า บ้านหลังโตกว่า มีตำแหน่งใหญ่กว่า ใช้ของดีกว่า มีคู่ครองมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ดูดีกว่า ผอมกว่า

เห็นสิ่งที่ยังไม่สมหวังในตัวเอง อยากมี อยากเป็น แต่ยังไม่มี ไม่เป็น เช่น อยากสวย อยากหล่อ อยากรูปร่างดี อยากเรียนเก่ง อยากพูดเก่ง อยากมีเพื่อนมากๆ

เมื่อเห็นความจริงบางอย่างของตัวเองก็มักจะทำให้รู้สึกเศร้าใจ น้อยใจ ผิดหวังกับตัวเอง โกรธตัวเอง มากๆเข้า ก็พาลโกรธคนอื่นที่ดูมีมากกว่า รู้สึกไม่พึงพอใจทั้งตัวเองและคนอื่น บางคนอาจจะแยกตัว เพราะไม่อยากรู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่อยากเห็นภาพที่คนอื่นดีกว่าเรา เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์มาก


ความอิจฉานั้นบางครั้งมีพลัง เป็นพลังผลักดันให้ชีวิตไปในทิศทางที่เราต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ในทิศทางใด จะทำให้ชีวิตไปสู่เป้าหมายนั้นก็ได้ จะทำให้คนอื่นแย่ลงก็ได้ เพื่อให้รู้สึกขาดเหมือนๆกับเรา เข้าทำนอง ถ้าเราแย่คนอื่นก็ต้องแย่ด้วย อยู่ที่ว่าเราจะแปลความอิจฉาให้เป็นทุนในการทำอะไร

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งบรู๊ซ ลี ได้ดูการทดสอบฝีมือของศิษย์สองคน โดยพบว่าศิษย์คนโตมีฝีมือด้อยกว่า แต่อาศัยประสบการณ์ในการต่อสู้ตัดจังหวะที่ศิษย์คนรองจะได้แสดงฝีมือ เมื่อจบการทดสอบศิษย์คนโตชนะ และรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองใช้วิธีดังกล่าว...

ถ้าใครกำลังทุกข์ใจจากความอิจฉาอยู่ ...มีวิธีลดความทุกข์ใจ ที่ใช้ได้ดีกับทั้งตัวเองและคนรอบข้างค่ะ

ยอมรับกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ ว่ากำลังรู้สึกอิจฉาอยู่ ไม่ต้องละอายใจ ไม่ต้องโทษใครค่ะ เพราะการรู้สึกอิจฉาบ้างเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้แปลว่าคุณเป็น "ตัวอิจฉา" ในละคร คุณยังคงเป็นคนธรรมดาเหมือนๆคนอื่น

มองหาความต้องการของตัวเอง อะไรที่ยังต้องการ อยากมี อยากเป็น ให้ซื่อสัตย์กับตัวเอง กำหนดให้ชัดเจนและอยู่ในวิสัยที่คุณทำได้ ชั่งใจดูว่าจะต้องแลกด้วยอะไรบ้าง เช่น เงินทอง เวลาในชีวิต ต้องเหนื่อยยากอดทน ตรองดูว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าโอเคก็ลุยเลย (ต้องกำหนดในใจตลอดเวลาว่าความสำเร็จทุกอย่างต้องแลกด้วยอะไรบางอย่างเสมอ คุณจะรู้เองว่าความพอดีอยู่ตรงไหน)

มองหาสิ่งที่พอจะชดเชยความต้องการในปัจจุบัน เช่น อยากขี่เบนซ์แต่มีเงินไม่พอ ก็เลือกใช้รถญี่ปุ่นก่อน อยากเรียนต่อต่างประเทศก็ลองไปที่ใกล้ๆก่อน ก็พอที่จะลดความอยากไปได้บ้าง และทำให้ได้เรียนรู้ว่าที่ต้องการนั้น พอเอาเข้าจริงๆจะทำให้พอใจได้จริงหรือไม่

เมื่อได้ทำทุกทางแล้วก็ยังรู้สึกไม่พอใจตัวเองอยู่ดี แสดงว่าปัญหาอาจจะอยู่ที่ ความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเอง คงต้องเริ่มเรียนรู้การยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับและรัก เมตตาตัวเอง ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ

ความต้องการบางอยางไม่มีทางเป็นไปได้ เช่น ต้องการอยู่ใกล้ชิดพ่อ แม่ แต่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ความต้องการเหล่านี้นำความทุกข์มาให้ ควรที่จะปล่อยมันไป

จะเห็นได้ว่าความอิจฉานั้น อีกด้านคือพลัง คือศักยภาพ ถ้าคุณรู้จักแปลงความอิจฉาให้เป็นทุนของชีวิตได้ ชีวิตของคุณก็มีโอกาสที่จะดีขึ้นกว่าเดิม และไม่ปล่อยให้ความอิจฉาทำลายชีวิตของคุณและคนอื่น...


"คติสำหรับคนอกหัก"


คติสำหรับคนอกหัก จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

ถาม คนที่อกหักช่วงแรก ๆ เขาอาจไม่มีกำลังใจดูแลตัวเอง หลายคนหลายคู่ใช้วิธีหาคนใหม่ อย่างนี้จะทำอย่างไร ดีค่ะ

ตอบ อาตมาเคยเขียนไว้ในหนังสือ ธรรมะ...ทำไมที่มีคนเขียนเข้ามาจะทำอย่างไร อาตมาก็แนะนำไว้เป็นขั้น ๆ ว่า

1 เนี่ย คุณอยากร้องไห้ก็ร้องไปเถอะ อย่าไปฝืนมันนะเพราะอะไร คือน้ำตาเนื่ยนอกจากจะมีเอาไว้หล่อเลี้ยงในตาของเราแล้ว ในทางหนึ่งใช้เป็นยาระบายได้ด้วย การที่เราได้ร้องไหก็หมือนรถทุกคันมันมีท่อไอเสียนะ มันระบายของเสียออกมา เพราฉะนั้นสังเกตุไหมทุกครั้งที่เราทุกข์เจ็บปวด กดดัน บับคั้นมาก ๆ แล้วร้องไห้นะร้องจนน้ำตาเปียกหมอน น้ำตาแห้ง มารู้สึกตัวอีกทีนะ มันโปร่งนะ สังเกตุไหม อันนี้เป็นการบำบัดที่ง่ายที่สุด ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องไปเถิด

2 อย่าทำร้ายตัวเองเพราะการทำร้ายตัวเองนี้ มันมีแต่เสียไม่มีได้เลยอย่าทำร้ายตัวเอง

3 อย่าสร้างบรรยากาศเพื่อซ้ำเติมตัวเอง เช่น อกหักมาปิดห้องล็อคประตู ฟังเพลงเศร้า ขุดมาฟังหมดเลย ผู้หญิงลืมยากน่ะช๊อบ ชอบ ยิ่งฟังยิ่งเจ็บ ใช่ไหม๊ ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บอะไร ขนมาฟังทั้งหมด อันนี้แหละ คือมันเจ็บมาแล้ว พอเรามาสร้างบรรยากาศซ้ำเติมใช่ไหม๊ ความเจ็บครั้งแรกมันเป็นลูกศรดอกที่ 1 ที่มีคนยิงถูกอกเราใช่ไหม๊ พอเราสร้างบรรยากาศให้มันเศร้าเพิ่มขึ้น นั้นคือลูกศรดอกที่ 2 ที่เกิดจากน้ำมือของเราไปทิ่มแทงตัวเอง ทุกข์หนักขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปสร้างบรรยากาศเศร้า ๆ เพื่อซ้ำเติมตัวเอง คุณต้องออกจากบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณทุกข์ เช่น ในห้องคุณมีอะไร มีรูป มีเสื้อผ้าอะไร เก็บซะ อย่าเอาบรรยากาศเหล่านั้นเอาไว้ แต่มนุษย์มันไม่ใช่อย่างนี้นะ บางทีอกหักยินดีที่จะทิ้งเขา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำให้ไว้ เก็บไว้หมด แล้วพยายามที่จะลืมเขา มันจะลืมได้ไง ในเมื่อคุณยังอยู่สภาพแวดล้อมแบบนั้นใช่ไหม๊ เพราะฉะนั้นให้ออกจากสภาพแวดล้อม อันนี้เป็นข้อ 3

4 ทำอย่างไง หาเพื่อน หาเพื่อนนี่ก็หมายความว่าเอาไว้เป็นที่ระบายหรือที่ปรึกษาหารือ แต่ไม่ใช่หาเพื่อนกินเหล้านะ หาเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร เอาไว้ปรึกษาหารือ เพื่อที่จะได้ช่วยกันแบ่งปันความทุกข์ เรียกว่าหาเพื่อนร่วมทุกข์ให้เขาคอยแนะนำชี้ทางเรา และมันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ ความทุกข์นั้นได้ถูกลดความเข็มข้นลงไป คำแนะนำปรึกษาหารือของมนุษย์ที่จริงใจต่อกัน บางทีมันเป็นโอสถขนานวิเศษมาก คนบางคนคิดว่าในชีวิตฉันคงต้องตาย แต่เพราะไปเจอคำพูดบางคำ เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณต้องหาเพื่อนที่ดีไว้คอยแนะนำ

5 แล้วประการต่อมา อาตมาคิดว่าควรจะเดินทาง ทำไมต้องเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกหมุ่น ครุ่นคิด อยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ การเดินทางก็ช่วยให้เปิดหูเปิดตา ในภาษาของนักภาวนาเราเรียกว่า การเคลื่อนย้ายจิต คือจิตของคนเรามักตกอยู่ในห้วงอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง แล้วถ้ามันชอบอารมณ์ไหน มันจะหมกอยู่อย่างนั้น นาน ๆ แช่ตัวเองเหมือนเราแช่อยู่ในอ่างน้ำนะ น้ำอุ่น ๆ มีความสุข ก็แช่สักชั่วโมงนึง ถ้าเราเดินทางเราก็ออกจากบรรยากาศเดิม ๆ จากห้วงอารมณ์เดิม ๆ ไปสู่สิ่งที่ใหม่ ไปพบคนใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ จิตใจก็ดีขึ้น

6 อย่าปล่อยให้ใจตกงาน หมายความว่าอย่างไง หมายความว่าเวลาคุณนั่งอยู่เฉย ๆ ทุกสิ่งที่คุณเคยทำมากับคนรัก มันจะลอยมาหมดนะ ยิ่งหลับตาก็ยิ่งเห็นชัดหมดทุกช๊อต ทุกตอนมันมาหมดเลย ถ้าเราปล่อยให้ใจตกงานคือ อยู่กับความหลัง เราก็ทุกข์หนักขึ้น ยิ่งสุขขนาดไหนตอนรักกัน พอย้อนกลับไปนึกถึงก็ทุกข์หนักขึ้นเป็นทวีตรีคูณ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ใจตกงาน นั้นก็คือต้องหาอะไรที่เรารักเข้ามาทำเช่นจัดบ้าน ทำงานให้หนักเพื่อที่จะดังจิตมาอยู่กับงานแทนที่จะอยู่กับอดีตอันเศร้าหมองของเรา นี่เรียกว่า อย่าปล่อยให้ใจตกงาน ทำงานแทนให้ใจนั้นมีที่เกาะที่พักพิง

7 ก็อยากจะแนะนำท่านสูงสุดเลยนะ หาที่ๆ สงบ ๆ ไปเรียนธรรมะ เพราะอะไร ธรรมะจะบอกคุณว่าการอกหักไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันพัฒนาการขั้นหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ธรรมะจะบอกอย่างนี้ให้คุณเรียนรู้กติกาที่จะอยู่ในโลก คือมนุษย์ส่วนใหญ่บางทีใช้ชีวิตโดยที่ไม่ยอมรับรู้ถึงกติกา พออกหักปุ๊บฆ่าตัวตาย นี่เรียกว่า โง่มาก คุณต้องรู้นะกติกาของการเป็นคนคืออะไร มีสมหวัง ผิดหวัง มีขึ้น มีลง มีสุข มีทุกข์มีสรรเสริญ มีนินทา มีได้ มีเสีย สิ่งเหล่านี้คือกติกาชีวิต ถ้าคุณไม่เรียนธรรมะคุณจะไม่รู้ มัวแต่เรียนเรื่องทำมาหากินใช่ไหม๊ รู้แต่วิธีทำมาหาเงิน แต่ไม่รู้วิธีที่จะออกจากความทุกข์ไปเรียนธรรมะแล้วเราจะเข้าใจกติกาของการเกิดมาเป็นคน

8 สุดท้ายไปฝึกหัดการเจริญสติปฐาน เพราะอะไร ความทุกข์ที่เรามีทั้งหลายทั้งปวง กว่า 90% เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความครุ่นคิดของเราเอง เรียกว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการวิตก ถ้าเราออกจากความวิตกหรือออกจากความเป็นทาสของความคิดได้ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการเรียนรู้สติปฐาน 4 วิธีใด วิธีการหนึ่งการแล้วแต่ คุณสามารถตัดความทุกข์ได้เหมือนกับคุณมีเซฟทีคัทในตัว พออกหักปุ๊บ คิดถึงแฟนปุ๊บ เจริญสติปุ๊บ ความคิดถึงมันหาย อะไรเข้ามาแทนที่ สติคือความตื่นเข้ามาแทน พอมีความตื่นก็มีความสุข ที่นี่ความสุขอยู่ที่เรา ไม่ใช่อยู่กับแฟน อยู่กับคนรักเรากลายเป็นมนุษย์ที่สามารถมีความสุขได้ ด้วยตัวของเราเอง นี่คือมนุษย์ที่เป็นไท ดังนั้นถ้าฝึกมาถึงขั้นนี้ได้ คนบางคนที่อกหักปุ๊บ ฝึกไปเรื่อย ๆ ตามที่แนะนำมา 8 ขั้น บางทีเป็นพระอรหันต์ หลังจากการอกหักนะ ในพุทธกาล มีหลายรูป หลายองค์ ที่เป็นพระเถระ พระเถรี อกหักทุกข์หนักทุกข์หนากับชีวิตคู่ พอหันไปหารสพระธรรม บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เห็นไหมนี่เรียกว่าเดินถูกทาง ต้องขอบคุณที่เธอช่วยทำให้ฉันอกหักเพราะได้สิ่งที่สูงกว่าคนรัก ความรัก นั่นคือโพธิปัญญา

ถาม เรียกว่า การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ตอบ เจริญพร ก็เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส แล้วก็เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุข เปลี่ยนผู้ถูกกระทำให้เป็นผู้ทำ นี่แหละคือมีธรรมะก็มีทุกอย่าง

ถอดบทสนทนามาจาก ซีดี ตื่นรู้อยู่ด้วยรัก โดย ท่าน ว.วชิรเมธี


"แค่ปล่อยก็ลอยตัว"


อันความจริง ตัวกู มิได้มี
แต่พอโง่ มันก็มี ขึ้นจนได้
พอหายโง่ ตัวกู ก็หายไป
หมด ตัวกู เสียได้ เป็นเรื่องดี
เหตุดังนั้น จงถอน ซึ่ง ตัวกู
และถอนทั้ง ตัวสู อย่างเต็มที่
คงมีแต่ ปัญญา และ ปราณี
หน้าที่ใคร ทำได้ดี เท่านี้เอย

พุทธทาสภิกขุ

แค่ปล่อยก็ลอยตัว

           คนทึไปยึดติดความทุกข์ว่าคือสุข เหมือนคนที่กอดเม่นแล้วนอนคลุมโปงในหน้าหนาว
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากอด และเราคิดว่าเป็นความสุขโดยเนื้อแท้มันเป็นความทุกข์ สิ่งนั้นกัดเราแน่นอน

           อุบาสิกาคนหนึ่งเคยฝากทุเรียนไปถวายท่านพุทธทาสโยมแกเป็นโรคเก๊าต์ เขียนจดหมายแนบไปด้วยว่าด้วยอานิสงส์ที่ดิฉันถวายทุเรียนแด่พระคุณเจ้าหากพระคุณเจ้าฉันทุเรียนของดิฉันแล้ว
ขอให้ดิฉันหายจากอาการเจ็บขาด้วยเถิด

          ท่านพุทธทาสตอบจดหมายได้แหลมคมมากท่านเขียนตอบไปว่า อยากให้ขาหายปวดมันแก้ง่ายนิดเดียวทีหลังไม่ต้องเอาทุเรียนมาติดสินบนอาตมาแค่ถอนความเชื่อมั่นว่า"นี่ขาของกู"แค่นั้นมันก็ไม่ทุกข์แล้ว

          ปวดขามันเป็น"ทุกขเวทนา"(ความรู้สึกทุกข์ทางกาย)แต่ถ้าคิดว่าเป็นขาของกู มันเป็นทุกข์โทมนัส(ทุกข์ทางใจ)ถ้ารู้ทันทุกข์ ทุกข์เวทนาจะไม่เป็นทุกขโทมนัสและทุกข์โทมนัสจะไม่กลายเป็นทุกข์ทรมานซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังไม่จบ

          มนุษย์ส่วนใหญ่ที่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์สองต่อเป็นดับเบิ้ลทุกข์เพราะเอาทุกขเวทนามาเป็นทุกข์ทรมานสิวขึ้นหน้าเม็ดหนึ่งแต่ใม่กล้าไปหาแฟน ใม่กล้าเข้าสังคม ขาดความเชื่อมั่นไปหาหมอ หมดค่าดูแลสิวเม็ดหนึ่งบางทีเป็นพันเป็นหมื่นเพราะคิดว่าสิวขึ้นที่หน้ากูถ้ามันไม่มีหน้ากูมันจะทุกข์เพราะสิวเม็ดหนึ่งไหม

          กำจัดความรู้สึกว่าตัวกูเสียได้ ตรงนั่นแหละคือบรมสุขบรมสุข ไม่ได้หมายความว่า ต้องทานอาหารที่อร่อยที่สุดนั่งรถที่แพงที่สุด มีเงินให้มากที่สุดความจริงนั่นแหละคือบรมทุกข์ ที่รอเวลาอยู่ต่างหาก
พราะเราไปเข้าใจว่าทุกข์มันเป็นสุขพอความทุกข์มันสำแดงธาตุแท้ออกมาเราจึงทุกข์มากกว่าชาวบ้านชาวเมืองยิ่งมีมากยิ่งทุกข์มากยื่งมีน้อยยิ่งทุกข์น้อยยิ่งไม่มียิ่งไม่ทุกข์

เรียบเรียงจาก หนังสือ" แค่ปล่อยก็ลอยตัว"ของท่าน ว.วชิรเมธี